ทุกวันนี้คงไม่มีใครไม่รู้จักแก๊สไฮโดรเจนซัลไฟด์แต่จะมีสักกี่คนที่รู้และตระหนักถึงอันตรายของแก๊สชนิดนี้ที่มีต่อมลพิษทางอากาศและสุขภาพความเป็นอยู่ของมนุษย์
แก๊สไฮโดรเจนซัลไฟด์หรือที่คนทั่วไปเรียกว่าแก๊สไข่เน่า คงเป็นเพราะกลิ่นของแก๊สชนิดนี้คล้ายกลิ่นของไข่เน่า แก๊สชนิดนี้เป็นหนึ่งในสารประกอบที่ได้จากธาตุซัลเฟอร์ มีคุณสมบัติเป็นแก๊สพิษชนิดหนึ่งที่ไม่มีสี มีสูตรทางเคมีว่า H2S น้ำหนักโมเลกุล 34.04 จุดเดือด -85.5°C จุดหลอมเหลว -60.7°C ความหนาแน่นของแก๊ส 1.393 g/L ที่อุณหภูมิ 25°C ความดันบรรยากาศ 1atm ซึ่งมีน้ำหนักมากกว่าอากาศ ค่าปริมาณไอระเหยของแก๊สต่ำสุดที่สามารถเกิดการระเบิดได้ หากมีออกซิเจนเพียงพอ (Lower explosive Limit, LEL) อยู่ที่ 4% จึงจัดแก๊สชนิดว่าเป็นแก๊สที่มีความว่องไวในการลุกติดไฟได้ง่ายมากและเกิดการเผาไหม้อย่างรุนแรง และอุณหภูมิที่สามารถลุกติดไฟได้เองอยู่ที่อุณหภูมิ 290°C
แหล่งกำเนิดของแก๊สไฮโดรเจนซัลไฟด์โดยส่วนใหญ่มาจาก 2 แหล่งได้แก่ กระบวนการทางธรรมชาติและกระบวนการทางอุตสาหกรรม โดยกระบวนการทางธรรมชาติ เช่นกระบวนการย่อยสลายของซากอินทรีย์สารที่มีธาตุซัลเฟอร์เป็นส่วนประกอบโดยแบคทีเรียในสภาวะที่ไม่ใช้ออกซิเจน (Anaerobic digestion) ในส่วนของกระบวนการทางอุตสาหกรรมได้แก่ กระบวนการกลั่นแยกปิโตรเลียม การผลิตสิ่งทอ การฟอกหนัง การทำเหมืองแร่ กระบวนการเกี่ยวกับการผลิตเยื่อกระดาษ กระบวนบำบัดน้ำเสียและสิ่งปฏิกูล
ระดับความเป็นพิษของแก๊สชนิดนี้ หน่วยงาน The American National Standards Institute standard ได้แบ่งระดับความเป็นพิษตามระดับความเข้มข้นแก๊สที่ได้รับ แสดงดังตารางที่ 1 จะเห็นว่าแก๊สชนิดนี้ส่งผลเสียต่อมนุษย์ หากได้รับในระดับความเข้มข้นต่ำก็ส่งผลให้เกิดอาการระคายเคือง แต่ถ้าได้รับที่ปริมาณความเข้มข้นสูงๆ ก็อาจทำให้เสียชีวิตได้ทันที และนอกจากนี้เมื่อแก๊สพิษชนิดนี้สัมผัสกับน้ำหรือไอน้ำก็จะเปลี่ยนเป็นกรดซัลฟูริก มีฤทธิ์ทางการกัดกร่อนสูง สามารถกัดกร่อนหลังคาบ้านเรือน รวมไปถึงวัสดุและอุปกรณ์ต่างๆ อย่างรุนแรง โดยเฉพาะหากแก๊สชนิดนี้เกาะตัวอยู่บนโลหะหรืออยู่ในอากาศ เมื่อฝนตกลงมาก็จะกลายเป็นไอกรด หรือฝนกรด และถ้าหากถูกผิวหนังก็จะเกิดอาการปวดแสบปวดร้อน
ตารางที่ 1 ระดับความเป็นพิษของแก๊สไฮโดรเจนซัลไฟด์ที่ส่งผลกระทบต่อร่างกาย